มัดรวม 4 ขั้นตอนสำคัญ เคลมประกันภัย Non – motor ที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหว
1 เมษายน 2025
4050
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดในประเทศพม่า ส่งผลให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้รับความเสียหายไปด้วย สิ่งปลูกสร้างทั้งที่พักอาศัย บ้าน อาคาร และสถานประกอบการล้วนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง หากคุณมีประกันอัคคีภัยหรือประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินที่มีความคุ้มครองแผ่นดินไหว ขอแนะนำให้รีบดำเนินการเคลมโดยเร็ว เพื่อให้ได้รับการชดเชยตามสิทธิ์ที่ควรได้รับ ขั้นตอนการเคลมประกันจากเหตุแผ่นดินไหวมีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบความคุ้มครองของกรมธรรม์ว่าครอบคลุมการเคลมภัยเนื่องจากแผ่นดินไหวหรือไม่
- กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) มีวงเงินภัยแผ่นดินไหวที่อยู่รวมกับภัยธรรมชาติ(แผ่นดินไหว, ลมพายุ, ลูกเห็บ, น้ำท่วม) ในวงเงินรวมไม่เกิน 10,000 บาท
- กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งมีทั้งที่มีและไม่มีความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว หรือมีวงเงินภัยแผ่นดินไหวที่อยู่รวมกับภัยธรรมชาติในวงเงินรวมไม่เกิน 20,000 บาท
- กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยมาตรฐาน (สำหรับธุรกิจ หรือสถานประกอบการ) เช็กว่ามีซื้อภัยเพิ่มในส่วนภัยแผ่นดินไหวหรือไม่ หรือกรมธรรม์สรรพภัยบางแพ็คเกจจะมีขยายความคุ้มครองในส่วนภัยแผ่นดินไหวและรวมไปถึงธุรกิจหยุดชะงัก
- กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR), กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (CAR or CWI), กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องมือ เครื่องจักรของผู้รับเหมา (CPM) จะมีความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวให้อยู่แล้ว
ขั้นตอนที่ 2 สำรวจความเสียหาย และรวบรวมหลักฐาน เพื่อเตรียมเคลมประกันจากภัยแผ่นดินไหว และภัยจากธุรกิจหยุดชะงัก
2.1 กรณีทำประกันอัคคีภัยหรือประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน(IAR) จากภัยแผ่นดินไหว
- ถ่ายภาพหรือวิดีโอความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากแผ่นดินไหว เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการเคลมประกัน
- ให้ช่างประเมินราคาในการซ่อม
- เก็บรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น รายการทรัพย์สินที่เสียหาย, ใบเสนอราคาค่าซ่อม/ใบเสร็จค่าซ่อม, หนังสือเรียกร้องความเสียหาย (แบบฟอร์มของบริษัทประกัน), สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร และเอกสารอื่นๆ ที่บริษัทประกันภัยร้องขอ
2.2 กรณีทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งจะต้องเคลมจากภัยของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย หรือประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ก่อน
- หลังจากเกิดแผ่นดินไหวหากเกิดเหตุการณ์ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก จะต้องเกิดจากภัยที่ระบุในกรมธรรม์หลัก และจะต้องแจ้งเคลมกรมธรรม์หลักก่อน เช่น ประกันอัคคีภัย หรือ ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
- เก็บรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือเรียกร้องความเสียหาย,เอกสารทางการเงินงบการเงินย้อนหลัง 1-2 ปี รายงานยอดขาย, บัญชีรายรับรายจ่าย, หลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างธุรกิจหยุดชะงัก, หนังสือเรียกร้องความเสียหาย (แบบฟอร์มของบริษัทประกัน) และ เอกสารอื่น ๆ ที่บริษัทประกันภัยร้องขอ
2.3 กรณีทำประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (CAR or CWI)
- ถ่ายภาพหรือวีดีโอความเสียหายทั้งหมดจากแผ่นดินไหว และจดบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์ วันเวลาที่เกิดเหตุ รายละเอียดความเสียหาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการเคลมจากภัยแผ่นดินไหว
- เก็บรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น สัญญาว่าจ้าง, BOQ (ใบเสนอราคาของผู้รับเหมา), หนังสือชี้แจงความคืบหน้าของโครงการ, ตารางการปฏิบัติงานของโครงการ, หนังสือเรียกร้องความเสียหาย (แบบฟอร์มของบริษัทประกัน), และเอกสารอื่น ๆ ที่บริษัทประกันภัยร้องขอ
2.4 กรณีทำประกันภัยเครื่องมือ เครื่องจักรของผู้รับเหมา (CPM)
- ถ่ายภาพหรือวีดีโอความเสียหายทั้งหมดภายหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และจดบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์ วันเวลาที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการเคลมประกัน
- เก็บรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบเสร็จค่าซ่อมหรือใบเสนอราคาค่าซ่อม, หนังสือเรียกร้องความเสียหาย(แบบฟอร์มของบริษัทประกัน), และเอกสารอื่นๆ ที่บริษัทประกันภัยร้องขอ
ขั้นตอนที่ 3 แจ้งเคลมกับบริษัทประกันภัย
- ระหว่างรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ให้รีบแจ้งบริษัทประกันภัย คลิกดูเบอร์เคลม Non-motor เพื่อทำการแจ้งเคลมประกันหลังเกิดแผ่นดินไหว
- กรอกเอกสารเคลมประกันที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวต่าง ๆ และส่งเอกสารหลักฐานที่ได้รวบรวมเข้าไปที่บริษัทประกันภัย รวมถึงแนบบุ๊คแบงค์ของผู้เอาประกันภัย และเก็บสำเนาเอกสารประกันภัยไว้ 1 ชุด
ขั้นตอนที่ 4 ขั้นตอนการพิจารณา และรับค่าสินไหมทดแทน
- บริษัทประกันภัยจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบภายใน 7-15 วันทำการ (นับจากวันที่บริษัทประกันภัยได้รับเอกสารครบถ้วน)
- เมื่อบริษัทประกันภัยพิจารณาเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งผลการพิจารณา และส่งหนังสือตกลงรับค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัย (หนังสือสัญญาประนีประนอมยอมรับค่าสินไหมทดแทน)
- ผู้เอาประกันภัยตกลงเซ็นเอกสารรับค่าสินไหม และส่งกลับให้บริษัทประกันภัย
- บริษัทประกันภัยดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 7-15 วันทำการ
เมื่อต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม?
หากคุณยังไม่แน่ใจว่ากรมธรรม์ของคุณคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหว รวมถึงภัยจากธุรกิจหยุดชะงักหรือไม่ หรือต้องการสอบถามเรื่องเอกสาร รวมถึงขั้นตอนการเคลมประกัน สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของ ศรีกรุงโบรคเกอร์ ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ
ตัวอย่างเอกสารต่าง ๆ และการถ่ายรูปภาพประกอบการเคลมที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหว
ตัวอย่าง การถ่ายรูปภาพประกอบการเคลมที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหว
ตัวอย่าง ใบเสนอราคาค่าซ่อมจากผู้รับเหมา
ตัวอย่าง การกรอกแบบฟอร์มเรียกร้องสินไหมทดแทน
ตัวอย่าง หนังสือสัญญาประนีประนอมยอมรับค่าสินไหมทดแทน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ความคุ้มครองและวิธีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), ตัวอย่างเอกสาร หนังสือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน และตัวอย่างหนังสือ แจ้งผลการพิจารณาค่าสินไหมทดแทน โดยบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
บทความโดย : นางสาว อฐิตา เอี่ยมสอาด
ผู้จัดการ บริษัท ศรีกรุงโบรคเกอร์ จำกัด