ประกันภัยตะกาฟุล (Takaful) คืออะไร? เจาะลึกข้อดีและความแตกต่างจากประกันทั่วไป
20 มีนาคม 2025
3956
หากคุณมองว่าการจ่ายเบี้ยประกันภัยเป็นภาระที่ไม่มีวันได้คืน ประกันภัยตะกาฟุล (Takaful) อาจเป็นแนวทางที่แตกต่างที่คุณควรรู้จัก ด้วยระบบที่ให้ความสำคัญกับหลักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผู้เข้าร่วมจะไม่ใช่แค่ผู้ซื้อประกันภัย แต่เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนที่ใช้ดูแลสมาชิกในกลุ่ม มาทำความเข้าใจว่าทำไมประกันภัยตะกาฟุลจึงอาจเป็นคำตอบที่ดีกว่าสำหรับการบริหารความเสี่ยงของคุณ
ประกันภัยตะกาฟุล (Takaful) คืออะไร?
ประกันภัยตะกาฟุล (Takaful) คือ การประกันภัยที่สอดคล้องกับหลักการของศาสนาอิสลาม ซึ่งหลักการสำคัญคือการร่วมมือและแบ่งปันความเสี่ยงระหว่างสมาชิกในชุมชน โดยไม่มีการใช้ดอกเบี้ย (Riba) หรือการพนัน (Gharar) ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลาม
การทำประกันภัยตะกาฟุล (Takaful) จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองและปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลามในการจัดการเรื่องการเงินและการแบ่งปันความเสี่ยง การบริหารจัดการกองทุนจะต้องโปร่งใสและถูกควบคุมโดยคณะกรรมการที่ปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งจะไม่ใช้วิธีการทางการเงินที่ผิดกฎหมายตามศาสนา
คำนิยามที่ต้องรู้ในประกันภัยตะกาฟุล (Takaful)
สำหรับประกันภัยตะกาฟุล มีคำศัพท์สำคัญซึ่งแตกต่างจากประกันภัยทั่วไป ดังนี้
- เงินสมทบตะกาฟุล ใช้เรียกแทน “เบี้ยประกัน” ซึ่งมีแนวคิดให้เงินสมทบค่าเบี้ยประกันเป็นการบริจาคโดยสมัครใจเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการช่วยเหลือเกื้อกูล (ตะบัรรุอฺ) เงินสมทบนี้จะถูกนำไปสู่กองทุนร่วมเพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบภัย
- สมาชิกตะกาฟุล ใช้เรียกแทน “ผู้เอาประกัน” สมาชิกตะกาฟุลจะมีบทบาทเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ตกลงร่วมกัน มีสถานะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับความช่วยเหลือในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบครอบครัวในการแบ่งปันความเสี่ยงร่วมกัน
- สัญญาตะกาฟุล ใช้เรียกแทน “กรมธรรม์” โดยเป็นข้อตกลงระหว่างสมาชิกกลุ่มที่จะช่วยเหลือกัน และรวมถึงข้อตกลงระหว่างสมาชิกกับผู้ดำเนินการตะกาฟุลที่ทำหน้าที่บริหารกองทุนตามหลักชะรีอะห์
ประกันภัยรถยนต์ตะกาฟุล (Takaful) เหมือนกับประกันภัยรถยนต์ทั่วไปหรือไม่
ประกันภัยรถยนต์ตะกาฟุล (Takaful) และประกันภัยรถยนต์ทั่วไป มีความแตกต่างกันในแง่ของหลักการและวิธีการทำงาน โดยมีข้อแตกต่างหลักๆ ดังนี้
1. หลักการที่ใช้ของประกันภัยรถยนต์ตะกาฟุล (Takaful)
- ประกันภัยรถยนต์ทั่วไป ใช้หลักการทางธุรกิจแบบธรรมดาที่บริษัทประกันภัยจะรับความเสี่ยงจากผู้เอาประกัน และหากเกิดเหตุการณ์เสียหาย บริษัทประกันภัยจะชดเชยให้
- ประกันภัยรถยนต์ตะกาฟุล ใช้หลักการร่วมมือกันในชุมชน (ร่วมมือแบ่งปันความเสี่ยง) โดยสมาชิกตะกาฟุล (ผู้เอาประกัน) ทุกคนจะร่วมกันบริจาคเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นการชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ที่เกิดเหตุ
2. การจัดการกองทุนของประกันภัยรถยนต์ตะกาฟุล (Takaful)
- ประกันภัยรถยนต์ทั่วไป เป็นธุรกิจที่นำกำไรจากเบี้ยประกันไปจัดสรรและบริหารการลงทุนได้ตามเงื่อนไขที่ คปภ. กำหนด
- ประกันภัยรถยนต์ตะกาฟุล จะมีการจัดการตามหลักการของอิสลาม ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย (Riba) หรือการพนัน (Gharar) โดยการจัดการจะถูกดำเนินการในลักษณะของการร่วมมือกันในชุมชนเพื่อแบ่งปันความเสี่ยง
3. การจ่ายเงินของประกันภัยรถยนต์ตะกาฟุล (Takaful)
- ประกันภัยรถยนต์ทั่วไป จะจ่ายเงินชดเชยจากการเก็บเบี้ยประกัน โดยบริษัทประกันจะเป็นผู้ชำระเงิน
- ประกันภัยรถยนต์ตะกาฟุล สมาชิกจะจ่ายเงินสมทบตะกาฟุล (เบี้ยประกัน) เพื่อนำมารวมเป็นกองทุนร่วมกัน ซึ่งหากมีความเสียหายเกิดขึ้น สมาชิกที่มีความเสียหายจะได้รับการชดเชยจากกองทุนนี้
บริษัทประกันภัยในบ้านเราที่มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยตะกาฟุล (Takaful)
- บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ตัวอย่าง กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ตะกาฟุล (Takaful)
หรือ สัญญาตะกาฟุล หน้าตาของรูปแบบกรมธรรม์การประกันภัยตะกาฟุล จะเป็นอย่างไรนั้นสามารถศึกษาได้จากรูปด้านล่างนี้ได้เลย
สรุปแล้ว
ประกันภัยรถยนต์ตะกาฟุล (Takaful) และ ประกันภัยรถยนต์ทั่วไป เป็นการประกันภัยความเสียหายจากอุบัติเหตุ แต่หลักการที่ใช้และวิธีการบริหารจัดการจะแตกต่างกัน โดยประกันภัยตะกาฟุล (Takaful) จะมุ่งเน้นที่การร่วมมือกันของสมาชิกในชุมชนตามหลักอิสลาม ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยทั่วไปจะเป็นการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นการจัดการความเสี่ยงและบริหารให้เกิดรายได้ ดังนั้นทุกการจ่ายเบี้ยประกันไปไม่สูญเปล่า แต่ยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการระบบประกันที่โปร่งใสและเน้นความช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่า
หากท่านสนใจผลิตภัณฑ์ตะกาฟุล (Takaful) ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายประกันภัย ตะกาฟุล (Takaful) บจก.ศรีกรุงโบรคเกอร์ หรือ นายหน้า บจก.ศรีกรุงโบรคเกอร์ ได้ทั่วประเทศ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
วิริยะตะกาฟุล โดย บมจ. วิริยะประกันภัย, การประกันภัยตามหลักศาสนาอิสลาม หรือตะกาฟุล (Takaful) โดย บมจ. ทิพยประกันภัย, วิทยานิพนธ์เรื่อง ธุรกิจประกันภัยตามหลักศาสนาอิสลาม (ตะกาฟุล) โดย นางสาวณัฐธิดา ศุภนิมิตกุล การศึกษาตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตสาขากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2558
บทความโดย : นิกแนม เบ็ญหยา
ผู้จัดการ บริษัท ศรีกรุงโบรคเกอร์ จำกัด