วิธีใช้จ่ายเงินเมื่อท่องเที่ยวต่างประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การจองตั๋วเครื่องบินหรือจองที่พัก ก่อนเดินทางควรศึกษาเปรียบเทียบ ข้อดี – ข้อเสีย ทั้งเงินสด บัตรเครดิต หรือ Travel Card เพื่อวางแผนใช้จ่ายเงินได้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และจุดหมายปลายทางของประเทศที่เดินทางไป
ข้อดี – ข้อเสีย ของวิธีใช้จ่ายเงินต่างประเทศ
ก่อนตัดสินใจเลือกวิธีใช้จ่ายเงินในต่างประเทศ ลองมาดูกันว่าวิธีใช้จ่ายแบบไหนตอบโจทย์คุณที่สุด
1. ใช้จ่ายเงินสดเที่ยวต่างประเทศ
คือ การแลกเงินสดสกุลต่างประเทศไว้ล่วงหน้า เหมาะกับร้านค้าท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่ไม่รับบัตรเครดิต

ข้อดี – ข้อเสีย วิธีใช้จ่ายเงินสดในการเที่ยวต่างประเทศ
การแลกเงินสดไปใช้ต่างประเทศถือเป็นตัวเลือกพื้นฐานที่หลายคนใช้กันทั่วไป ซึ่งมีข้อที่ควรรู้ ดังนี้
ข้อดี
- ใช้ได้ทุกที่: ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทหรือตลาดท้องถิ่น ร้านค้าอาจไม่รับบัตรเครดิตหรือการชำระเงินแบบดิจิทัล
- ไม่มีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม: ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินหรือค่าธรรมเนียมการถอนเงินเมื่อเที่ยวในต่างประเทศ
- ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี: ไม่ต้องกังวลเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือระบบการชำระเงินขัดข้อง
- ต่อรองราคาได้: ในหลายประเทศ การจ่ายด้วยเงินสดอาจได้ส่วนลดหรือต่อรองราคาได้ดีกว่า
- หากกังวลเรื่องความปลอดภัย: แบ่งเก็บเงินสดไว้หลายที่เพื่อกระจายความเสี่ยง
ข้อเสีย
- ความเสี่ยงต่อการสูญหายหรือถูกขโมย: โอกาสในการได้คืนแทบไม่มี หากกระเป๋าสตางค์หาย เงินสดก็หายไปด้วย
- อัตราแลกเปลี่ยนอาจสูงขึ้น: การแลกเงินที่สนามบินหรือจุดท่องเที่ยว อาจมีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงกว่าปกติ
- ไม่มีประวัติการใช้จ่าย: ยากในการติดตามว่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง หากไม่ได้มีการจดบันทึก
2. ใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตในต่างประเทศ
คือ การชำระเงินผ่านบัตรเครดิตที่สามารถรูดซื้อสินค้าและบริการทั่วโลก สะดวก ปลอดภัย มีโปรโมชั่นและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

ข้อดี – ข้อเสีย วิธีใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตในต่างประเทศ
บัตรเครดิตเป็นหนึ่งในวิธีใช้จ่ายยอดฮิต เพราะชำระค่าสินค้าและบริการได้ง่าย ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมาก แต่ก่อนจะรูดบัตรทุกครั้ง ก็ควรทำความเข้าใจกับข้อดีและข้อเสียก่อน ดังนี้
ข้อดี
- สะดวก: ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมาก และใช้ได้ทั่วโลกในสถานที่ที่รับชำระการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต
- ความปลอดภัย: มีระบบป้องกันการโกง เช่น OTP, แจ้งเตือนธุรกรรม หากบัตรเครดิตหายหรือถูกขโมย สามารถอายัดได้ทันที และมักได้รับความคุ้มครองจากการใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น เราสามารถแจ้งธนาคารก่อนเดินทางได้ว่ากำลังจะไปประเทศไหนวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดการเดินทาง ให้ธนาคารทราบ ถ้าหากมีธุรกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เราไม่ได้ไป ทางธนาคารจะไม่อนุมัติการตัดยอดเงินที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น หรือหากธนาคารพบว่ามีการใช้งานผิดปกติ ธนาคารจะระงับการใช้บัตรเครดิต และส่งข้อความแจ้งเตือนการใช้บัตรเครดิตงานมาให้เรา
- การปรับเพิ่ม-ลดวงเงิน: สามารถแจ้งธนาคารเพื่อปรับวงเงินบัตรเครดิตเพื่อใช้จ่ายได้มากขึ้นในต่างประเทศได้ และสามารถปรับวงเงินในแอปธนาคารได้เลย
- สิทธิประโยชน์: บัตรเครดิตหลายใบมีสิทธิประโยชน์ เช่น มีโปรโมชั่น ส่วนลด หรือสะสมแต้มแลกของรางวัล หรือสิทธิพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยว
- ติดตามค่าใช้จ่าย: มีประวัติการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตที่ชัดเจน ช่วยบริหารค่าใช้จ่าย ดูประวัติธุรกรรม ทำให้ควบคุมงบประมาณได้ดีกว่า
ข้อเสีย
- บางสถานที่อาจไม่รองรับ: ร้านค้าเล็ก ๆ และตลาดท้องถิ่นบางแห่งในต่างประเทศอาจรับเฉพาะเงินสด เช่น แถวชนบท หรือหมู่บ้านเล็ก ๆ
- ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม: บางธนาคาร หรือบัตรเครดิตบางประเภท อาจมีค่าธรรมเนียมแปลงสกุลเงินและค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมในต่างประเทศ
- เสี่ยงต่อปัญหาทางเทคนิค: หากอินเทอร์เน็ตล่ม หรืออุปกรณ์พัง อาจไม่สามารถใช้จ่ายบัตรเครดิตในต่างประเทศได้
- ความเสี่ยงในการใช้จ่ายเกินตัว: การชำระเงินที่สะดวกขณะท่องเที่ยวในต่างประเทศอาจทำให้ใช้จ่ายเกินงบประมาณ
3. ใช้ Travel Card ในต่างประเทศ
Travel Card คือ บัตรเติมเงินแบบพรีเพด (Prepaid Card) ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศโดยเฉพาะ สามารถเติมเงินล่วงหน้าเป็นสกุลเงินต่างประเทศได้ เช่น USD, EUR, JPY ฯลฯ เพื่อใช้รูดจ่าย หรือกดเงินสดในต่างประเทศ คล้ายกับบัตรเครดิต แต่ไม่มีการให้วงเงินล่วงหน้า

ข้อดี – ข้อเสีย วิธีใช้จ่ายด้วย Travel Card ในต่างประเทศ
Travel Card เป็นตัวเลือกในการใช้จ่ายระหว่างเดินทางที่ควบคุมงบได้ แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่ควรรู้ก่อนใช้งาน ดังนี้
ข้อดี
- รองรับหลายสกุลเงิน: สามารถเก็บเงินหลายสกุลในบัตรเดียว เหมาะสำหรับเดินทางหลายประเทศ
- อัตราแลกเปลี่ยนล็อกได้: สามารถแลกเงินล่วงหน้าเมื่ออัตราดี และล็อกอัตรานั้นไว้
- ค่าธรรมเนียมต่ำ: หลายบัตรไม่มีค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินหรือการถอนเงิน
- ลดความเสี่ยงเงินหมดบัญชีหากถูกโจรกรรม: เนื่องจากไม่เชื่อมโยงกับบัญชีธนาคารหลัก เป็นการเติมเงินเท่าที่ต้องการใช้
- เติมเงินได้: สามารถเติมเงินผ่านแอพหรือออนไลน์ได้สะดวก
ข้อเสีย
- ค่าธรรมเนียมในการทำบัตร: บางธนาคารต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้าหรือค่าธรรมเนียมรายปี*
- ข้อจำกัด: บางร้านค้าในต่างประเทศอาจไม่รับ Travel Card บางประเภท
- ปัญหาความปลอดภัย: ถ้าบัตรสูญหายหรือถ้าถูกรูดไปแล้ว เงินในบัตรก็จะไปด้วยทันที
- อาจไม่รองรับทุกสกุลเงิน: บางธนาคารอาจจะไม่ได้รองรับสกุลเงินทุกประเทศ
5 เคล็ดลับวางแผนใช้จ่ายเงินเมื่อท่องเที่ยวต่างประเทศ
- เลือกใช้หลายรูปแบบร่วมกัน: แนะนำให้พกเงินสดในจำนวนพอเหมาะ (ประมาณ 30% ของงบประมาณการเดินทางทั้งหมด) สำหรับใช้จ่ายจิปาถะ และใช้บัตรเครดิตหรือเดบิตสำหรับค่าใช้จ่ายหลัก เพื่อความคล่องตัวและลดความเสี่ยงการพกเงินสดครั้งละมาก ๆ
- แจ้งธนาคารล่วงหน้า: ก่อนออกเดินทาง ควรแจ้งธนาคารเกี่ยวกับแผนการเดินทางเพื่อป้องกันการถูกระงับบัตรเนื่องจากการตรวจจับธุรกรรมที่ธนาคารมองว่า “ผิดปกติ”
- ศึกษาการใช้จ่ายเงินของประเทศปลายทาง: บางประเทศใช้เงินสดเป็นหลัก ในขณะที่บางประเทศเป็นสังคมไร้เงินสดไปแล้ว การรู้ล่วงหน้าจะช่วยให้คุณเตรียมตัวได้เหมาะสม
- ตรวจสอบค่าธรรมเนียม: เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมของบัตรแต่ละประเภทก่อนเดินทาง เช่น ค่ารูดบัตร ค่ากดเงินสด หรือค่าธรรมเนียมแปลงสกุลเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าเลือกบัตรที่คุ้มค่าและเหมาะสมที่สุด
- เตรียมแผนสำรองเสมอ: ควรพกบัตรสำรองติดตัวไว้ หรือเตรียมวิธีอื่นในการเข้าถึงเงินสำรองเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น บัตรหลักสูญหาย ถูกขโมย หรือใช้งานไม่ได้ระหว่างเดินทาง
รับชมวิดีโอแนะนำรูปแบบการใช้จ่ายเงินเมื่อท่องเที่ยวต่างประเทศ
สรุป ใช้จ่ายเงินที่ต่างประเทศแบบไหนดีที่สุด?
การเลือกวิธีใช้จ่ายเงินในต่างประเทศไม่มีสูตรตายตัว มีข้อดีและข้อควรระวังต่างกัน ฉะนั้นควรเลือกให้เหมาะกับประเทศปลายทางและไลฟ์สไตล์ของตัวเอง แต่ทางที่ดีที่สุดคือใช้จ่ายเงินในต่างประเทศหลายรูปแบบสลับกันทั้งเงินสด บัตรเครดิต และ Travel Card เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและความปลอดภัยตามสถานการณ์นั่นเอง
และหากคุณมีแพลนจะไปเที่ยวต่างประเทศแต่ยังลังเลจะเริ่มซื้อประกันเดินทางเมื่อไรดี สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: ประกันเดินทางต่างประเทศ ต้องซื้อล่วงหน้ากี่วัน? เช็กกันให้ชัวร์ คลิก หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ศรีกรุงโบรคเกอร์ ได้โดยตรงเพื่อวางแผนเลือกผลิตภัณฑ์ประกันการเดินทางที่เหมาะกับคุณได้เลย
บทความโดย: ณัฐสรัญกร เนกขัมพิทักษ์
ผู้จัดการ บริษัท ศรีกรุงโบรคเกอร์ จำกัด