ไขข้อสงสัย! รถชนกันหลายคัน ใครผิดกันแน่?
27 กุมภาพันธ์ 2025
5898
เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนกันหลายคัน คำถามที่ตามมาคือ “ใครผิด?” การพิจารณาความรับผิดชอบไม่ได้ดูแค่ใครชนก่อน แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง เช่น ลำดับเหตุการณ์ ความประมาทของแต่ละฝ่าย และหลักฐานที่มีอยู่ หากคุณเคยเจอสถานการณ์แบบนี้หรืออยากรู้ว่าต้องรับมืออย่างไร บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจและเตรียมพร้อมได้อย่างถูกต้อง
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาความรับผิดชอบเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนกันหลายคัน
1. ลำดับการชน
สิ่งแรกที่ต้องดูคือ รถคันไหนชนก่อน-หลัง เพราะมีผลต่อการรับผิดชอบค่าเสียหาย
ตัวอย่างเหตุการณ์:
- รถคันแรกเบรกกระทันหัน: หากรถคันแรกเบรกกระทันหันโดยไม่มีเหตุผลอันควร รถคันที่ตามหลังมาอาจไม่สามารถหยุดรถได้ทัน และเกิดการชนซ้อนกันหลายคัน ในกรณีนี้ รถคันแรกอาจมีความผิดในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
- รถคันหลังขับรถเร็วเกินไป: หากรถคันหลังขับรถเร็วเกินกำหนด และไม่เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าเพียงพอ รถคันหลังจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
- สภาพถนนลื่น: หากเกิดอุบัติเหตุบนถนนที่ลื่น รถคันแรกอาจไม่สามารถควบคุมรถได้ ทำให้รถคันที่ตามหลังมาชนซ้อนกัน ในกรณีนี้ อาจพิจารณาความรับผิดชอบร่วมกันของผู้ขับขี่ทุกคน
2. ความประมาทของแต่ละฝ่าย
พฤติกรรมการขับขี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญ เช่น
- ไม่เว้นระยะห่างในการขับขี่
- ขับรถเร็วเกินกำหนด
- ขับรถขณะเมาสุรา
- การฝ่าฝืนกฎจราจร
3. สภาพแวดล้อมและปัจจัยภายนอก
บางครั้ง อุบัติเหตุก็เกิดจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ขับขี่ เช่น
- สภาพถนน : ถนนที่ลื่น หรือมีสิ่งกีดขวางอาจก็เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้
- สภาพรถ : รถที่ไม่พร้อมใช้งาน เช่น ยางรั่ว เบรกเสีย
- สภาพอากาศ : เช่น ฝนตกหนัก หมอกลง การเผาหญ้าข้างทาง อาจส่งผลต่อทัศนวิสัยและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
- ไฟจราจรขัดข้อง หรือสัญญาณจราจรไม่ชัดเจน
4. หลักฐานประกอบสำคัญ
เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างถูกต้อง จำเป็นต้องใช้หลักฐานสนับสนุน เช่น
- ภาพจากกล้องหน้ารถหรือวงจรปิด
- รูปถ่ายความเสียหายของรถแต่ละคัน
- พยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์
- ร่องรอยการชนบนรถ
คลิปอธิบาย: การพิจารณาความผิดในอุบัติเหตุรถชนหลายคัน
กรณีศึกษาเพิ่มเติม
กรณีที่ 1
รถยนต์ 5 คัน ขับตามกันมาในทิศทางเดียวกัน รถยนต์คันที่ 1 ,2 3 มีการชะลอความเร็ว แต่ผู้ขับรถยนต์คันที่ 4 ไม่สามารถหยุดรถได้ทันเป็นเหตุให้ไปชนรถยนต์คันที่ 3 ที่แล่นนำหน้าอยู่ และเป็นผลทำให้รถยนต์คันที่ 5 หยุดรถไม่ทันจึงชนท้ายรถยนต์คันที่ 4 ได้รับความเสียหาย กรณีดังกล่าวมีรถยนต์เสียหาย คันที่ 3 ,4 และ 5 จะรับผิดชอบอย่างไร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3373/2535 ความเสียหายของรถยนต์คันที่ 3 ถือว่าเป็นความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์คันที่ 4 ที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนความเสียหายของรถยนต์คันที่ 4 ถือว่าเป็นความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์คันที่ 5 จะต้องเข้ามารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ขับขี่รถยนต์คันที่ 5 จะกล่าวอ้างว่าผู้ขับขี่รถยนต์คันที่ 4 เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายฝ่ายเดียว หรือ เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันไม่ได้ อ่านฉบับย่อคลิก
กรณีที่ 2
รถยนต์ 3 คัน ขับตามกันมาในทิศทางเดียวกัน รถยนต์คันที่ 4 มีการกลับหรือเลี้ยวรถในลักษณะไม่ปลอดภัย จนเป็นเหตุทำให้รถยนต์คันที่ 1 ไม่สามารถหยุดรถได้ทันชนรถยนต์คันที่ 4 และเป็นผลทำให้รถยนต์คันที่ 2 หยุดรถไม่ทันจึงชนท้ายรถยนต์คันที่ 1 ได้รับความเสียหาย กรณีดังกล่าวมีรถยนต์เสียหาย คันที่ 1 ,2 และ 4 จะรับผิดชอบอย่างไร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8994/2542 ความประมาทของรถยนต์คันที่ 4 เกิดจากการกลับหรือเลี้ยวรถในลักษณะไม่ปลอดภัยในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น รถยนต์คันที่ 4 มิได้ขับหรือกลับรถตัดหน้ารถยนต์คันที่ 1 และ 2 ขับมาในระยะกระชั้นชิดตามที่โจทก์ฟ้อง รถยนต์คันที่ 1 และ 2 ขับรถยนต์ลงจากเนินด้วยความเร็วที่ไม่สูงและใช้ความระมัดระวังพอสมควรก็จะไม่เกิดเหตุชนกัน จึงถือได้ว่า รถยนต์คันที่ 1 และ 2 มีส่วนประมาทเลินเล่อไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า รถยนต์คันที่ 4 ทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ ดังนั้นความเสียหายด้านหน้าของรถยนต์คันที่ 1 จะต้องรับผิดชอบเอง ส่วนความเสียหายด้านท้ายรถยนต์คันที่ 1 ที่เสียหาย รถยนต์คันที่ 2 จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบให้ อ่านฉบับย่อคลิก
ในทางปฏิบัติ
- ตำรวจ: จะเป็นผู้เข้ามาตรวจสอบที่เกิดเหตุ และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาว่าใครเป็นผู้ผิดหรือใครต้องรับผิดชอบหรือใครเป็นผู้ประมาท
- บริษัทประกันภัย: บริษัทประกันภัยของแต่ละฝ่ายจะเข้ามาประเมินความเสียหาย และพิจารณาความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้
สิ่งที่ควรทำเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
- รักษาความปลอดภัย: ตรวจสอบความปลอดภัยของตนเองและผู้โดยสาร
- แจ้งตำรวจ: แจ้งตำรวจให้เข้ามาตรวจสอบที่เกิดเหตุ
- เก็บหลักฐาน: ถ่ายรูปที่เกิดเหตุ รวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ป้ายทะเบียนรถคู่กรณี เบอร์โทรศัพท์ของพยาน
- ติดต่อบริษัทประกันภัย: แจ้งบริษัทประกันภัยของตนเองให้ทราบโดยเร็วที่สุด
สรุป
การระบุว่าใครเป็นผู้ผิดในการเกิดอุบัติเหตุรถชนหลายคันนั้น ต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง และต้องมีการสอบสวนอย่างละเอียด โดยตำรวจจะเป็นผู้พิจารณาว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบในที่สุด
คำแนะนำเพิ่มเติม:
- ขับรถด้วยความระมัดระวัง: ปฏิบัติตามกฎจราจร เว้นระยะห่างจากรถคันหน้า และขับรถให้ช้าลงในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
- ทำประกันภัยรถยนต์: การมีประกันภัยรถยนต์จะช่วยคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ: หากเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดชอบ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหรือตัวแทนประกันภัย
หมายเหตุ: ข้อมูลนี้เป็นเพียงข้อมูลทั่วไป ไม่ถือเป็นคำแนะนำทางกฎหมาย หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
เขียนบทความโดย: นายวีรวัฒน์ พลายแก้ว
ผู้จัดการฝ่ายฝึกอบรม